บทความวิชาการ
หน้าแรก   /   บทความวิชาการ  /   การศึกษาอิสลามในปัจจุบัน ปัญหา และแนวทางการแก้ไข

 

การศึกษาอิสลามในปัจจุบัน ปัญหา และแนวทางการแก้ไข

ในปัจจุบันประเทศมุสลิมส่วนใหญ่มีระบบการศึกษาอยู่สองระบบ ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ทั้งสองระบบดังกล่าวนี้วางอยู่บนพื้นฐานปรัชญาที่ต่างกัน ดังนั้นเป้าหมายทางการศึกษาของทั้งสองระบบจึงแตกต่างกันโดยปริยาย ระบบการศึกษาทั้งสองนี้คือ (1) ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม (Traditional System) (2) ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ (Modern System)

ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมบางครั้งจะเรียกว่า “ ระบบการศึกษาศาสนา (Religious System) การศึกษาในระบบนี้จะเน้นหนักในเรื่องศาสนา โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนศรัทธาต่ออัลลอฮ ด้วยความบริสุทธิ์ใจและนำศาสนามาเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิต นอกจากนั้นให้ยอมรับว่าวัหยูเป็นแหล่งที่มาของความจริงแท้

ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่เป็นระบบการศึกษาที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาตะวันตกและปรัชญาเซคคิวลา (Secular) ที่แยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร การศึกษาในระบบนี้จะไม่ยอมรับว่าวัหยูคือแหล่งที่มาของความรู้ แต่จะยอมรับความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่มาจากสมมุติฐานต่าง ๆ ที่ได้รับการทดลองทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น (Basri, 1991 : 17)

ปัจจุบันการศึกษาทั้งสองระบบดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในประเทศมุสลิม ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากการศึกษาแบบสมัยใหม่มักจะได้ทำงานกับภาครัฐ และได้ดำรงตำแหน่งที่สูง ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากกระบวนการศึกษาแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่กับการเป็นครูสอนศาสนา บางคนอาจจะรับราชการบ้าง แต่ก็ได้รับตำแหน่งที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ประชากรของประเทศส่วนใหญ่จึงมุ่งไปยังสถาบันการศึกษาที่ใช้ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานักเรียนนักศึกษาที่มีสติปัญญาดี พวกเขามักจะเลือกเรียนในสถาบันที่ใช้ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ ส่วนบรรดานักศึกษาที่มีสมรรถภาพทางสติปัญญาค่อนข้างต่ำ หรือปานกลางส่วนใหญ่จะเลือกศึกษาในสถาบันการศึกษาแบบดั้งเดิม อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ผลผลิตทางการศึกษาแบบดั้งเดิมไม่สามารถที่จะเทียบเคียงกับผลผลิตทางการศึกษาแบบสมัยใหม่

ในสังคมไทยเราก็เช่นกัน เรามีระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมและระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ บางสถาบันการศึกษาก็จะมีทั้งสองระบบ แต่จะเป็นอิสระต่อกัน เช่น ในกรณีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในช่วงเช้าจะเป็นระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมโดยจะสอนวิชาศาสนาเพียงอย่างเดียว ส่วนในตอนบ่ายก็จะเป็นระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ วิชาที่สอนเป็นวิชาสามัญ แม้ในปัจจุบันโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางโรงได้ใช้หลักสูตรบูรณาการ แต่เราก็มิอาจที่จะด่วนสรุปได้ว่า ผลผลิตของหลักสูตรบูรณาการนี้จะดีกว่าผลผลิตของหลักสูตรเดิม ที่แยกวิชาศาสนาและวิชาสามัญออกจากกัน ทั้งนี้เพราะหลักสูตรบูรณาการที่แท้จริงไม่ได้หมายถึงการรวมวิชาศาสนาและวิชาสามัญเข้าด้วยกันเพียงอย่างเดียว แต่หลักสูตรบูรณาการมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น (Narongraksakhet, 1995 : 41-43)

ความจริงการศึกษาในทัศนะอิสลามนั้น เป็นการศึกษาแบบบูรณาการ ที่บูรณาการทั้งวิชาศาสนาและวิชาการทางโลกเข้าด้วยกัน การกลับสู่ระบบการศึกษาแบบอิสลามที่แท้จริง จำเป็นที่จะต้องสร้างระบบการศึกษาใหม่ขึ้นมา ระบบการศึกษาใหม่นี้ต้องเป็นแบบบูรณาการที่บูรณาการทั้งสองระบบการศึกษาเข้าด้วยกันอย่างมีระบบกฎเกณฑ์ และทั้งสองระบบจะแยกออกจากกันไม่ได้ ไม่ควรมีการแยกวิชาศาสนาออกจากวิชาสามัญหรือแยกวิชาสามัญออกจากวิชาศาสนา เพราะการศึกษาตามทัศนะอิสลามนั้น ไม่ได้หมายถึงการศึกษาวิชาอัล กุรอาน หรือวิชาศาสนบัญญัติเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการศึกษาทุกสาขาวิชาที่สอนตามทัศนะของอิสลาม

ในยุคแรก ๆ ของประวัติศาสตร์อิสลาม ท่านศาสดา ( ขอความจำเริญและความสันติจงมีแด่ท่าน ) ได้ให้ความสำคัญกับวิชาการสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการทางศาสนา หรือวิชาการทางโลก ดังข้อเขียนของอะหมัด ชาลาบี (Shalaby, 1954 : 48) ว่า

“… เมื่อท่านศาสดาถึงเมืองมะดีนะฮ มัสยิดของท่านก็ถูกสร้างขึ้นที่อัล มิรบัด (al Mirbad) และในมัสยิดแห่งนี้ ท่าน ( มุฮัมหมัด )( ขอความจำเริญและความสันติจงมีแด่ท่าน ) เคยสอนเศาะหาบะฮของท่านเกี่ยวกับวิชาศาสนา และวิชาทางโลก ”

อีกตัวอย่างหนึ่งเราเห็นได้จากเหตุการณ์หลังสงครามที่เมืองบะดัร ซึ่งชัยชนะในครั้งนั้นตกเป็นของมุสลิม ชาวกุรอยชหลายคนถูกจับเป็นเชลยศึก ท่านศาสดา ( ขอความจำเริญและความสันติจงมีแด่ท่าน ) จึงมอบหมายให้เชลยสงครามเหล่านั้นสอนบรรดาเด็ก ๆ ชาวอันศอร เพื่อเป็นค่าไถ่สำหรับพวกเขา ความจริงเชลยสงครามเหล่านั้นไม่มีความรู้เกี่ยวกับอัล กุรอานเลย แต่ทำไมท่านศาสดา ( ขอความจำเริญและความสันติจงมีแด่ท่าน ) อนุญาตให้พวกเขาเหล่านั้นสอนบรรดาลูก ๆ ของมุสลิม สิ่งนี้ย่อมแสดงให้ประจักษ์ว่าท่านศาสดา ( ขอความจำเริญและความสันติจงมีแด่ท่าน ) ได้ให้ความสำคัญกับวิชาการอื่น ๆ นอกเหนือไปจากวิชาการศาสนา ในยุคต้น ๆ ของประวัติศาสตร์อิสลามการศึกษาของชาวมุสลิมมีเพียงระบบเดียว ที่มีการเรียนการสอนทั้งวิชาการศาสนาและวิชาการทางโลก ในสมัยอับบาซียะฮก็เช่นเดียวกัน วิชาศาสนาและวิชาสามัญได้รวมอยู่ในหลักสูตรเดียวกัน (Al Afendi and Boloch, 1980 : 144)

เมื่อเราพิจารณาถึงวิชาการต่าง ๆ ของบรรดามุสลิมในยุคต้น ๆ ของประวัติศาสตร์อิสลาม เราจะตระหนักว่าวิชาการศาสนาและวิชาการสามัญนั้นไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้ และทั้งสองวิชาได้รับการบรรจุไว้ในหลักสูตรเดียวกัน แม้กระทั่งสมัยที่มองโกลรุกรานประเทศมุสลิม บรรดาประเทศมุสลิมในตอนนั้นก็ยังคงมีหลักสูตรทั่วไปเพียงหลักสูตรเดียว ไม่มีการแยกวิชาศาสนาและวิชาสามัญ การแยกวิชาศาสนาและวิชาสามัญออกจากกันนั้นเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 19-20 แห่งคริสตกาล เมื่อประเทศมุสลิมตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก

ปัจจุบันนี้เราถือว่าเป็นสมัยของการฟื้นฟูทางการศึกษา บรรดานักการศึกษามุสลิมต่างพยายามที่จะย้อนกลับไปสู่ยุคของท่านศาสดา ( ขอความจำเริญและความสันติจงมีแด่ท่าน ) สมัยดังกล่าวการศึกษามีเพียงระบบเดียวที่วิชาการศาสนาและวิชาการสามัญได้รับการบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างมีระบบ บรรดานักการศึกษาเหล่านี้ได้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่การบูรณาการที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ยากในทางปฏิบัติ เพราะมิใช่หมายถึงการรวมวิชาการต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ แม้วิชาการต่าง ๆ ได้รับการบูรณาการเข้าด้วยกันแล้ว แต่สถานภาพของวิชาการต่าง ๆ นั้นจะไม่เท่าเทียมกัน วิชาการศาสนาจะมีสถานภาพที่สูงกว่าวิชาการอื่น ๆ ความพยายามในปัจจุบันที่ต้องการทำให้ทุกวิชามีสถานภาพที่เท่าเทียมกันนั้น เป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญากลุ่มวัตถุนิยม ซัยยิด อะลี อัชรอฟ (Ashraf, 1985 : 6) ได้กล่าวถึงสถานภาพของวิชาต่าง ๆ อย่างชัดเจนว่า

“ ศาสตร์ในสาขาวิชาต่าง ๆ นั้นมีสถานภาพที่แตกต่างกัน ศาสตร์ที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณจะมีสถานภาพที่สูงที่สุด … ศาสตร์ที่เกี่ยวกับคุณค่าแห่งคุณธรรมจะมีความสำคัญรองลงมา จากนั้นก็จะเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับสติปัญญา หรือศาสตร์ที่จะนำมาซึ่งหลักการของสติปัญญา จากนั้นก็จะเป็นศาสตร์ที่ควบคุมและจัดระเบียบจินตนาการ และตามด้วยศาสตร์ที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถควบคุมประสาทสัมผัส ”

วัตถุประสงค์ของการศึกษาที่ได้เสนอไว้ในการประชุมเกี่ยวกับการศึกษาอิสลามครั้งแรกที่เมืองเจดดะห์ ประเทศซาอุดิอารเบีย ได้เล็งเห็นความสำคัญของวิชาการแขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการศาสนาหรือวิชาการสามัญ บรรดานักการศึกษาและนักคิดมุสลิมที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น ได้เสนอให้ประเทศมุสลิมกำหนดวัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อการเจริญเติบโตทางบุคลิกภาพของมนุษย์ที่มีความสมดุลย์ โดยการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ สติปัญญา เหตุผล ความรู้สึกและประสาทสัมผัส การศึกษาของประเทศมุสลิมควรมุ่งเน้นให้มนุษย์เจริญเติบโตในทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านจิตวิญญาณ สติปัญญา การจินตนาการ สรีระ วิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ทั้งปัจเจกบุคคลและส่วนรวม แล้วโน้มน้าวด้านต่าง ๆ เหล่านี้สู่พระผู้เจ้า เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาคือการมอบหมายต่ออัลลอฮ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล สังคมและมนุษยชาติ (First World Conference on Muslim Education, 1983 : 16)

จากวัตถุประสงค์ข้างต้น เราจะเห็นว่าการศึกษาในทัศนะของอิสลามนั้นเป็นการศึกษาแบบบูรณาการที่รวมวิชาสาขาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีพัฒนาการทุก ๆ ด้าน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สิ่งเหล่านี้ได้ปรากฏให้เห็นแล้วในยุคแรก ๆ ของอิสลาม คำศัพท์ “ วิชาศาสนาและวิชาสามัญ ” ยังไม่ปรากฏเพราะทุกสาขาวิชาถูกรวมเข้าด้วยกันภายใต้วิชาศาสนา ที่เป็นเช่นนี้เพราะการศึกษาของชาวมุสลิมในยุคต้นๆ ของอิสลามมีเพียงระบบเดียว และหลักสูตรก็มีเพียงหลักสูตรเดียวเช่นกัน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้วิชาศาสนาและวิชาสามัญถูกแยกออกจากกัน จนทำให้เกิดทวิระบบ และระบบการศึกษาทั้งสองก็มีปรัชญาขัดแย้งกัน การที่เราจะบูรณาการทั้งสองระบบการศึกษานี้เข้าด้วยกันจึงเป็นสิ่งที่ยาก ซัยยิด อะลี อัชรอฟ (Ashraf, 1991 : 14-15) มีทัศนะว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะบูรณาการทั้งสองระบบการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันให้วางอยู่บนปรัชญาเดียวกัน เพราะปรัชญาของทั้งสองระบบนี้มีความขัดแย้งกัน

ผู้เขียนจึงขอสรุป ณ ที่นี้ว่า การบูรณาการการศึกษาที่สมบูรณ์แบบค่อนข้างที่จะเป็นไปไม่ได้ในสังคมบ้านเราปัจจุบัน เพราะการบูรณาการที่สมบูรณ์นั้นหลักสูตร หนังสือแบบเรียน ตลอดจนวิธีการสอนจะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของอัล อิสลาม แม้ว่าการบูรณาการการศึกษาสามารถที่จะปฏิบัติได้ในบางระดับ แต่ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างรอบคอบ เพราะการบูรณาการที่หละหลอมจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี อย่างไรก็ตาม เมื่อเราตระหนักว่าหลักสูตรการศึกษาในอิสลามนั้นเป็นหลักสูตรบูรณาการ ความพยายามที่จะต้องบูรณาการการศึกษานั้นจึงควรได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง นักปราชญ์มุสลิมและบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมืออย่างจริงจังในการแก้ปัญหาการศึกษา และร่วมมือสร้างหลักสูตรบูรณาการให้สอดคล้องกับอิสลาม อันจะนำมาซึ่งอารยธรรมและความรุ่งเรืองแก่สังคมมุสลิมต่อไป

ขอบคุณบทวามจาก cis.psu.ac.th